ประเด็นร้อน
สำรวจโอกาสการใช้ Blockchain แก้ปัญหาความโปร่งใสในสังคมไทย
โดย ACT โพสเมื่อ Oct 26,2018
- - ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักข่าวอิศรา - -
Blockchain มีจุดเด่นอยู่ที่เทคโนโลยีการเก็บบันทึกข้อมูลดิจิตอลด้วยการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงกันจำนวนมาก ถูกจัดเก็บ “อย่างปลอดภัย โปร่งใส ปลอมแปลงได้ยาก และตรวจสอบได้” รวมทั้งยังสามารถนำไปใช้งานต่อยอดได้ทันทีในระบบดิจิตอล
Blockchain และเทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ AI และ Open Data กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน โดยเฉพาะในโลกธุรกิจ การเงิน การแพทย์ ที่เทคโนโลยีเหล่านี้ได้ปฏิวัติรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ช่วยเอื้อประโยชน์ต่อปัจเจกบุคคลมากขึ้น
ในอีกด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่นี้ ก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมและเพิ่มพลังการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐและเอกชนอย่างตรงไปตรงมาแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
เมื่อเร็วๆนี้ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับ ChangeFusion และภาคีเครือข่าย จัดงาน Roundtable on Technology for Justice Series (Project j : jX Justice Experiment) ในหัวข้อ “เทคโนโลยี Blockchain เพื่อความโปร่งใสและความรับผิดชอบ” ระดมความคิดเห็น ถกปัญหา และแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติในหลากหลายภาคส่วน เพื่อแก้ปัญหาเก่าๆ ด้วยวิธีใหม่ๆ ผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง Blockchain ที่สามารถประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อส่งเสริมความยุติธรรมที่ขับเคลื่อนด้วยประชาชน
ศาตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งถึงเทคโนโลยี Blockchain ว่า เป็นเรื่องใหม่ แต่ Open Data โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐหากเปิดข้อมูลให้เป็นแบบดิจิทัล ประชาชนเข้าถึงได้ สามารถนำข้อมูลมาทำอะไรที่เป็นประโยชน์ได้มากมาย
"โอกาสใหม่ๆที่เกิดจากนวัตกรรมเพิ่มพลังให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและยกระดับความยุติธรรมได้โดยไม่ต้องพึ่งระบบยุติธรรมภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว"
เทคโนโลยี Blockchain มีจุดเด่นอยู่ที่เทคโนโลยีการเก็บบันทึกข้อมูลดิจิตอลด้วยการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงกันจำนวนมากในการเก็บและยืนยันความถูกต้อง ข้อมูลที่ถูกบันทึกด้วย Blockchain จะถูกจัดเก็บ “อย่างปลอดภัย โปร่งใส ปลอมแปลงได้ยาก และตรวจสอบได้” รวมทั้งยังสามารถนำไปใช้งานต่อยอดได้ทันทีในระบบดิจิตอลอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ
นายปฏิพัทธ์ สุสำเภา กรรมการผู้จัดการบริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด บอกว่า ก่อนจะใช้งาน Blockchain ได้ ข้อมูลทั้งหมดนั้นต้องเป็นข้อมูลดิจิทัลก่อน ข้อมูลนั้นคอมพิวเตอร์ต้องอ่านได้ และมีเมตะดาต้า(metadata)
"ผมชอบเข้าไปดูราชกิจจานุเบกษา มีกฎหมายอะไรออกมากบ้าง ปัญหาคือการคือตีพิมพ์บนออนไลนทุกวันนี้มักทำเป็นไฟล์ PDF ซึ่งไม่มีคำอธิบาย ฉะนั้น เมตะดาต้า คือต้องมีคำอธิบายปะหน้า เรื่องสำคัญในการทำดิจิทัลดาต้า นั่นก็คือมีคำอธิบายดาต้าชุดนั้นด้วย"
นายปฏิพัทธ์ มองเห็นปัญหาของการออกแบบฐานข้อมูลในเมืองไทย 1.ข้อมูลรวมศูนย์ 2.เสี่ยงและง่ายต่อการแก้ไขโดยไม่ได้รับอนุญาต และ 3.ไม่มีกลไกการตรวจสอบความแน่นอนของข้อมูลด้วยตัวเอง หากข้อมูลผิดพลาดเราจะไม่รู้เลยว่า ผิด
ก่อนยกกรณีตัวอย่าง การแสดงบัญชีทรัพย์สิน การเก็บรายการทรัพย์สินและจำนวนทรัพย์สินของบุคคลหนึ่งๆ ซึ่งทรัพย์สินหนึ่งชนิด คือ หนึ่งระเบียนข้อมูล ซึ่งการจัดการข้อมูลในบริบทฐานข้อมูลเป็นไฟล์เอ็กเซล แม้จะทำได้ง่ายและเร็ว แต่ก็มีข้อเสีย หากวันหนึ่งมีแฮกเกอร์ไปลบข้อมูลเราจะไม่สามารถตรวจสอบฐานข้อมูลได้เลย นี่คือ ความเสี่ยงที่ทำให้ข้อมูลนั้นๆ บิดเบือน
แต่สำหรับ Blockchain ตรงกันข้าม 1.ข้อมูลถูกกระจายศูนย์ 2.ไม่ง่ายต่อการแก้ไขโดยไม่ได้รับอนุญาต และ 3. มีกลไกการตรวจสอบความแน่นอนของข้อมูลด้วยตัวเอง
สิ่งเหล่านี้เป็นคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ในการสร้างกลไกและวัฒนธรรมของความซื่อตรงโปร่งใส ทั้งในระดับบุคคลและหน่วยงานได้อย่างก้าวกระโดด หากถูกนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ Blockchain จะมีอัตลักษณ์ของข้อมูล (Hash) ที่สร้างด้วย Algorithm โดยอัตลักษณ์นั้นจะไม่ซ้ำกันเลย หากข้อมูลเปลี่ยนแม้แต่ Bit เดียว อัตลักษณ์ก็จะเปลี่ยนไปด้วย
ขณะที่นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ มองว่าBlockchain คือการปฏิวัติหลังบ้าน เรื่องการเก็บข้อมูล ซึ่งอนาคตตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องทำเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น
"ผมว่า ใครพร้อมให้รีบทำเลยอย่าหวังภาครัฐให้เคลื่อนเร็ว เพราะเราก็ทราบดีว่า มีข้อจำกัด ภาคเอกชนจะเริ่มได้เร็วกว่า โดยรัฐอย่าออกกฎหมายเยอะเกินควร หรือขัดขวาง"
นายปริญญ์ ยังชี้ว่าBlockchain หากนำไปใช้ในทางที่ผิดก็เกิดปัญหาได้เช่นกัน เช่น คริปโตเคอเรนซี่ มีการหลอกลวง มี Darknet Darkweb มีคนใช้เหรียญดิจิทัลค้ามนุษย์ ยาเสพติด และ นำไปใช้เรื่องอาชญากรรมจริง
การเข้าถึงแหล่งเงินทุน นายปริญญ์ ให้มุมมองในฐานะคนอยู่ในแวดวงการการเงินว่า คนตัวเล็กที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ถูกและเป็นธรรมได้ นี่ถือเป็นปัญหาใหญ่ แต่วันนี้ข้อมูลยุคใหม่ปล่อยสินเชื่อบนพื้นฐานข้อมูลบน Blockchain และถูกเก็บอย่างปลอดภัย เลือกนำมาใช้ได้ โดยไม่ผ่านตัวกลาง
ทั้งนี้ มีกรณีศึกษาหลายประเทศที่นำเทคโนโลยี Blockchain ไปใช้อุดช่องว่าง พัฒนาระบบ แก้ปัญหาที่เกี่ยวกับสิทธิ์และผลประโยชน์ของสาธารณะ เช่น
- เอสโตเนียที่เป็นผู้นำการใช้ Blockchain มาจัดการข้อมูลบัตรประชาชนและการเข้าถึงสิทธิพลเมืองทั้งระบบ
- เกาหลีใต้ที่กำลังลงทุนใช้ Blockchain ในการจัดการเลือกตั้ง
- สิงคโปร์ นำ Blockchain มาใช้ในระบบราชการ เรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง มีราคากลาง
ในส่วนหน่วยงานบรรเทาทุกข์ UNHCR ได้ใช้ Blockchain ในการบันทึกข้อมูลตัวตนผู้อพยพ และเป็นกลไกออกเงินตราดิจิตอลเพื่อให้ผู้อพยพสามารถซื้อของใช้ที่จำเป็นและได้รับอาหาร
ภาคเอกชน อุตสาหกรรมเพชรได้ใช้ Blockchain ในการบันทึกและตรวจสอบที่มาของเพชรในทุกขั้นตอนเพื่อสร้างความโปร่งใส และในกระบวนการยุติธรรม ก็เริ่มมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่ใช้เทคโนโลยีนี้ในการจัดเก็บหลักฐานแบบดิจิตอล เพื่อลดความเสี่ยงหลักฐานถูกปลอมแปลง และเพื่อความสะดวกในการใช้และต่อยอดไปยังระบบ AI ได้อีกด้วย
สำหรับประเทศไทย การสำรวจโอกาสการใช้ Blockchain จากโจทย์ปัญหาด้านความยุติธรรมในไทย Blockchain ก็อาจช่วยแก้หรือสนับสนุนได้ อาทิ การคอร์รัปชั่นและการตรวจสอบ, การเลือกตั้ง การค้ามนุษย์และการตรวจสอบที่มาในอุตสาหกรรมประมง เป็นต้น
#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน